ประวัติ
เมืองพล คำว่า "พล" แปลว่ากำลังทหารที่มีไว้ป้องกันประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แรกเริ่มแต่เดิมนั้นเป็นเพียงหมู่บ้านในการปกครองของเมืองชลบถวิบูลย์ ตั้งแต่ในสมัยเป็นหัวเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2321 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรี (สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก)และเจ้าพระยาสุรสีห์ เป็นแม่ทัพไปปราบพระเจ้าสิริบุญสาร (องค์บุญ) ณ กรุงศรีสุตนาคนหุต (เวียงจันทน์)ที่คิดแข็งเมืองและเอาใจออกหากจากกรุงธนบุรี ขณะที่เจ้าพระยาทั้งสองเดินทัพผ่านเมืองนครราชสีมามาถึงเนินดินแห่งหนึ่งอยู่ติดกับฝั่งบึงละเลิงหวายอันเป็นที่ตั้งหมู่บ้านเมืองพลในปัจจุบัน เจ้าพระยาทั้งสองได้หยุดพักทัพที่นี่ เพราะเห็นว่าเป็นชัยภูมิเหมาะสมกว่าที่อื่น มีแหล่งน้ำปูปลาอาหารสมบูรณ์ จึงได้สร้างค่ายประตูหอรบ ตลอดจนขุดคูคันดินน้ำล้อมรอบตามหลักยุทธศาสตร์ในสมัยนั้น เพื่อป้องกันการถูกโจมตีจากฝ่ายศัตรูในเนื้อที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร และถือโอกาสรวมพลฝึกทหารเพิ่มเติมจากราษฎรที่เกณฑ์มาจากเมืองพุทไธสง (อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์) เมืองนอก (อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา) และเมืองชนบท (อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น) ปัจจุบันคันดูดินและร่องน้ำยังคงเหลือปรากฏอยู่
ครั้นต่อมาเมื่อรวบรวมกำลังทหารได้มากพอสมควรแล้ว เจ้าพระยาทั้งสองจึงได้เดินทัพต่อไปยังเมืองหลวงพระบางและเวียงจันทน์ จนได้รับชัยชนะต่อพระเจ้าสิริบุญสาร (องค์บุญ) สมพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทุกประการและได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาไว้ที่ กรุงธนบุรี พระแก้วมรกตประดิษฐ์ไว้ที่วัดอรุณฯ ส่วนพระบางได้คืนให้แก่ลาวไปในรัชกาลที่ 1
หลังจากนั้นค่ายพักพลดังกล่าวได้ถูกทอดทิ้งให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่ามาเป็นเวลานาน ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่และเถาวัลย์นานาพันธุ์ แต่เนื่องจากที่นี่มีทำเลที่เหมาะสมเพราะติดกับบึงละเลิงหวาย ต่อมาจึงได้มีผู้คนอพยพไปหักร้างถางป่าปลูกบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ จึงได้ชื่อว่า บ้านเมืองพล ขึ้นต่อเมืองชนบท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บ้านเมืองพลได้ถูกยกฐานะเป็น ตำบลเมืองพล ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอชนบท 45 กิโลเมตร
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2457 กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นว่า การคมนาคมและการติดต่อราชการของตำบลเมืองพลกับอำเภอชนบทไม่สะดวก เพราะต้องอาศัยการเดินเท้า เกวียน และม้าเป็นพาหนะ จึงได้แบ่งเขตการปกครองของอำเภอชนบทโดยยกฐานะตำบลเมืองพลเป็นอำเภอใหม่ให้ชื่อว่า อำเภอพล โดยมีขุนมัชการธนานุรักษ์ (แสง ภาสะฐิติ) เป็นนายอำเภอคนแรก และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 ได้รับการยกฐานะตำบลเมืองพลเป็น สภาตำบลเมืองพลครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองพลนอกเขตสุขาภิบาลเมืองพล จนกระทั่งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2539 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเปลี่ยนแปลงฐานะ สภาตำบลเมืองพล เป็น องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพลจนถึงปัจจุบัน
การปกครอง
องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองพล ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองพล(บางส่วน) จำนวน 11 หมู่บ้าน ดังนี้
หมู่ 1บ้านชาด
หมู่ 2 บ้านตำแย
หมู่ 3 บ้านทับบา
หมู่ 4 บ้านท่าหลวง
หมู่ 5 บ้านหญ้าคา
หมู่ 6 บ้านหันใหญ่
หมู่ 7 บ้านโนนเหลื่อม
หมู่ 8 บ้านหนองห้าง
หมู่ 9 บ้านโนนเหม่น
หมู่ 10 บ้านหันใหญ่แม่เอีย
หมู่ 11 บ้านชาดอำนวย
สถานประกอบการ
บังกะโล 1 แห่ง
ปั๊มน้ำมัน ขนาดใหญ่ 2 แห่ง
โรงบรรจุแก๊ส 1 แห่ง
โรงงานหล่อเหล็กและกลึง 1 แห่ง
โรงงานเย็บผ้าเพื่อส่งออก 1 แห่ง
โรงสีข้าวขนาดใหญ่ 1 แห่ง
โรงสีข้าวขนาดเล็ก 40 แห่ง
|